วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2563

Recorded Diary 7

 

…………………… WELCOME ……………………

💬ความรู้ที่ได้รับในวันนี้

วันนี้อาจารย์ให้นักศึกษาแบ่งกลุ่ม และออกมานำเสนอรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของเด็กปฐมวัย

การจัดการเรียนรู้แบบ Project Approach สำหรับเด็กปฐมวัย

Project Approach (การสอนแบบโครงการ) เป็นการเรียนที่มุ่งเน้นให้เด็กมีส่วนร่วมและกระตุ้นให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง พร้อมเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ในสิ่งที่เด็กสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเด็ก และตอบสนองตามความต้องการที่หลากหลายของเด็ก ๆ โดยเป็นกิจกรรมเชิงปฏิบัติที่เน้นให้เด็กลงมือทำได้ด้วยตัวเอง การสอนแบบโครงการนี้ถือเป็นเครื่องมือการสอนที่ดีอย่างยิ่งสำหรับคุณครู เพราะจะแสดงให้เห็นถึงสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่แนวคิดในเรื่องแห่งความเป็นจริง การตั้งคำถามจากความสนใจที่แท้จริง และการค้นหาคำตอบในเชิงลึกของเด็กในหัวข้อหรือเรื่องที่เด็กสนใจ แล้วยังส่งเสริมทักษะและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ผ่านการสำรวจ การสืบค้น การจดบันทึก และการคิดวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อมูลและความรู้ต่าง ๆ ตามเรื่องที่เด็กสนใจ ผ่านประสบการณ์ตรงที่หลากหลาย ตลอดจนการใช้ความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะที่สรุปออกมาเป็นชิ้นงาน

การจัดการเรียนการสอนแบบโครงการ (Project Approach) ผู้สอนสามารถจัดเป็นนิทรรศการที่เป็นการสรุปความคิดรวบยอดของเด็ก ๆ ที่จะนำมาเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้รู้ถึงวิธีการทำงานที่เป็นกระบวนการตามขั้นตอน นอกจากการเรียนรู้แล้ว Project Approach ยังเป็นการสอนเชิงลึกเกี่ยวกับหัวข้อในความเป็นจริงที่เด็ก ๆ มีความสนใจและพยายามสืบค้นด้วยตัวเอง ทั้งยังช่วยให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี

วิธีการสอนแบบ Project Approach

เป็นวิธีการสอนให้เด็กเลือกเรื่อง หรือหัวข้อของโครงการตามความสนใจของเด็ก ๆ โดยเฉพาะ คุณครูสามารถกำหนดขอบเขตตามพัฒนาการของเด็ก ๆ ผ่านกระบวนการ 3 ระยะ ตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นโครงการ ขั้นพัฒนาโครงการ จนถึงการสรุปโครงการ ซึ่งจะช่วยให้คุณครูสามารถจัดระเบียบ ดูความก้าวหน้าของกิจกรรมตามการพัฒนาความสนใจของเด็ก และการมีส่วนร่วมกับหัวข้อการเรียนรู้นั้น ๆ

ในระหว่างขั้นตอนการวางแผนเบื้องต้น คุณครูจะเลือกหัวข้อการเรียนรู้ตามความสนใจของเด็กเป็นหลัก และระดมประสบการณ์ความรู้ แนวคิดของตัวเด็ก แล้วนำเสนอเป็นหัวข้อใน Mind Map จากนั้นแตกออกมาเป็นหัวข้อย่อย เพื่อที่จะถูกเพิ่มในหัวข้อของ Mind Map และใช้สำหรับบันทึกความก้าวหน้าของโครงการอีกด้วย

การกำหนดหัวข้อโครงการ

หัวข้อการเรียนรู้สามารถกำหนดได้จากเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของตัวเด็กเอง เพราะทุก ๆ คำถามที่เด็กถาม มักเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เด็กพบเห็นได้จากประสบการณ์ตรงในชีวิตประจำวัน และในคำถามที่เด็กถาม คุณครูจะเป็นเพียงผู้ชี้แนะและจะไม่ให้คำตอบทันทีกับคำถามที่เด็กถาม แต่คุณครูจะให้เด็กค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ผ่านการสืบค้นจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ ตัวอย่าง เช่น โครงการไปรษณีย์ เด็ก ๆ มีข้อสงสัยว่า ไปรษณีย์ คืออะไร... แล้วมีไว้ทำอะไร... คุณครูก็จะเป็นผู้แนะนำหรือชี้แนะ โดยใช้การระดมความคิดจากเด็ก ๆ ถึงความเป็นไปได้ในหัวเรื่องนั้น ๆ เด็กบางคนที่มีความรู้หรือมีประสบการณ์ตรง อาจจะแบ่งปันความรู้ให้เพื่อน ๆ ฟัง และให้เด็ก ๆ ไปหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต แผ่นพับ นิตยสาร และผู้ปกครองที่บ้าน เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว เด็ก ๆ ก็จะนำข้อมูลที่ได้มาสนทนาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันทีละหัวข้อ เพื่อที่จะตรวจสอบให้แน่ใจว่าเด็ก ๆ มีความเข้าใจในหัวข้อที่กำลังแลกเปลี่ยนกันหรือไม่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การสอนแบบโครงการใช้เวลาในการสอนค่อนข้างนาน หลายสัปดาห์กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ หรือในบางหัวข้อก็อาจใช้เวลาเป็นเทอม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสนใจของเด็ก ๆ ด้วยค่ะ

การสอน 3 ระยะของ Project Approach

การเรียนรู้แบบ Project Approach แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 : การเริ่มต้นโครงการ

คุณครูร่วมกันอภิปรายหัวข้อกับเด็ก ๆ เพื่อค้นหาประสบการณ์ที่เด็กมี สิ่งที่เด็กรู้แล้ว และสิ่งที่เด็กอยากรู้ เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ และแสดงความเข้าใจแนวคิดที่เกี่ยวข้อง จากการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน คุณครูจะใช้คำถามถาม เพื่อกระตุ้นให้เด็กตอบคำถาม และทำจดหมายเกี่ยวกับหัวเรื่องการเรียนรู้ของโครงการส่งกับบ้านถึงผู้ปกครอง เพื่อสนับสนุนให้ผู้ปกครองได้พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับหัวข้อนั้น ๆ และแบ่งปันความรู้ให้กับเด็ก ๆ เพื่อเด็กจะได้นำความรู้ใหม่ ๆ ที่ได้รับมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อน ๆ ในห้องต่อไป

ระยะที่ 2 : การพัฒนาโครงการ

ขั้นตอนนี้จะเป็นการจัดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ทำงานภาคสนามและพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่เด็กสนใจเรียนรู้ โดยคุณครูจะเป็นผู้จัดหาทรัพยาการต่าง ๆ เช่น หนังสือ เอกสารงานวิจัย พร้อมทั้งแนะนำวิธีการตรวจสอบที่หลากหลายให้กับเด็ก เพื่อช่วยเด็กในการสืบค้นและรวบรวมข้อมูลด้วยวัตถุจริง เปิดโอกาสให้เด็กแต่ละคนมีส่วนร่วมในการเป็นตัวแทนของสิ่งที่เค้ากำลังสืบค้น และช่วยให้เด็กสามารถทำงานตามความสามารถของตัวเองได้ เช่น บางคนมีทักษะพื้นฐานด้านงานประดิษฐ์ การวาดภาพ การนำเสนอ และการเล่นละคร โดยคุณครูช่วยสนับสนุนให้เด็กได้ทำงานตามความถนัดของแต่ละคนผ่านการอภิปรายในห้องเรียน ซึ่งหัวข้อของ Mind Map ที่ออกแบบไว้ก่อนหน้า จะให้ข้อมูลย่อเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการด้วยค่ะ

ระยะที่ 3 : การสรุปโครงการ

เด็กและคุณครูร่วมกันจัดนิทรรศการ โดยให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้เกี่ยวกับหัวข้อ Project Approach ให้เด็ก ๆ ช่วยกันอภิปรายถึงหลักฐานที่สืบค้น เปรียบเทียบการตั้งสมมุติฐานว่าตรงกันหรือไม่ เล่าเรื่องโครงการของพวกเขาให้ผู้อื่นฟัง โดยเน้นจุดเด่นของโครงการ คุณครูและผู้ปกครองช่วยเด็ก ๆ วางแผนการดำเนินการ พร้อมเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่เด็ก ๆ ทำและค้นพบ อย่างเต็มความสามารถ ความสนุกสนาน ความกระตือรือร้นและความภูมิใจในตัวเด็กผ่านผลงานต่าง ๆ ทั้งนี้ครูควรบันทึกความคิดและความสนใจของเด็กในระหว่างการทำโครงการ เพื่อเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงทางความสนใจ ความรู้ และความคิดของเด็ก ๆ ว่าก่อนเริ่มโครงการและหลังจากสรุปโครงการมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และเพื่อเป็นแนวทางในการหาหัวข้อของโครงการในครั้งต่อไป

จากที่กล่าวมาการสอนแบบ Project Approach หรือการสอนแบบโครงการ คือ กิจกรรมที่เน้นกระบวนการการลงมือปฏิบัติ และการใช้กระบวนการคิดที่เกิดจากการศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จากความสนใจของตัวเด็กเอง ที่เด็ก ๆ ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ อย่างลึกซึ้งในรายละเอียดของหัวเรื่องที่เด็กเลือก อย่างมีความสุข สนุกสนาน และยังส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเองและรู้จักทำงานอย่างมีแบบแผน นอกจากนั้นยังสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงเรียน ชุมชน และผู้ปกครอง เนื่องจากการสอนแบบโครงการผู้ปกครองและชุมชน จะมีส่วนสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างมาก

💕💕💕💕💕💕💕💕💕💕💕💕

👉การประเมิน

ประเมินตนเอง : ตั้งใจฟังอาจารย์และได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง

ประเมินเพื่อน : เพื่อนๆตั้งใจฟังอาจารย์

ประเมินอาจารย์ : อาจารย์ให้คำแนะนำและคำปรึกษาได้ดี

…………………… THANK YOU ……………………

 

 

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563

Recorded Diary 6

 

…………………… WELCOME ……………………

💬ความรู้ที่ได้รับในวันนี้

วันนี้อาจารย์ให้นักศึกษาเขียนวัตถุประสงค์ของแผนเป็นแผนกิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมเคลื่อนไหว กิจกรรมศิลปะ กิจกรรมเกมการศึกษา กิจกรรมกลางแจ้งและกิจกรรมเสรี
กิจกรรมหลัก 6 กิจกรรมของเด็กปฐมวัยมีดังนี้
1.กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ เป็นกิจกรรมที่จัดให้เด็กได้เคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอย่างอิสระตามจังหวะ ซึ่งจังหวะและดนตรีที่ใช้ประกอบได้แก่ เสียงตบมือ เสียงเพลง เสียงเคาะไม้ เคาะเหล็ก รำมะนา กลอง ฯลฯ
2.กิจกรรมสร้างสรรค์ เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับงานศิลปศึกษาต่าง ๆ ได้แก่ การวาดภาพระบายสี การปั้น การพิมพ์ภาพ การพับ ตัด ฉีก ปะ และประดิษฐุ์เศษวัสดุ ที่มุ่งพัฒนากระบวนการคิดสร้างสรรค์ การรับรู้เกี่ยวกับความงามและส่งเสริมกระตุ้นให้เด็กแต่ละคนได้แสดงออกตามความรู้สึกและความสามารถของตนเอง
3.กิจกรรมเสรี เป็นกิจกรรมที่จัดให้เด็กได้เล่นกับสื่อและเครื่องเล่นอย่างอิสระในมุมการเล่นกิจกรรมการเล่นแต่ละประเภทสนองตอบความต้องการตามธรรมชาติของเด็ก
4.กิจกรรมเสริมประสบการณ์ เป็นกิจกรรมที่จัดให้เด็กได้ฟัง พูด สังเกต คิด และปฏิบัติการทดลอง ให้เกิดความคิดรวบยอดและเพิ่มพูนทักษะต่าง ๆ ด้วยวิธีการหลากหลาย เช่น การสนทนา ซักถามหรืออภิปราย สังเกต ทัศนศึกษา และปฏิบัติการทดลองตามกระบวนการเรียนรู้
5.กิจกรรมกลางแจ้ง เป็นกิจกรรมที่จัดให้เด็กได้ออกนอกห้องเรียนไปสู่สนามเด็กเล่นทั้งที่บริเวณกลางแจ้งและในร่มเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกอย่างอิสระ โดยยึดเอาความสนใจ และความสามารถของเด็กแต่ละคนเป็นหลัก
6.กิจกรรมเกมการศึกษา เป็นกิจกรรมการเล่นที่มีกระบวนการในการเล่นตามชนิดของเกมประเภทต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งที่เรียน

💕💕💕💕💕💕💕💕💕💕💕💕

👉การประเมิน

ประเมินตนเอง : ตั้งใจฟังอาจารย์และได้ฝึกการเขียนวัตถุประสงค์แผนการจัดประสบการณ์

ประเมินเพื่อน : เพื่อนๆตั้งใจฟังอาจารย์

ประเมินอาจารย์ : อาจารย์ให้คำแนะนำและคำปรึกษาได้ดี

…………………… THANK YOU ……………………

 

 

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2563

Recorded Diary 5

 

…………………… WELCOME ……………………

💬ความรู้ที่ได้รับในวันนี้

วันนี้อาจารย์ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย

การจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ สำหรับเด็กปฐมวัย

ศิลปะมีประโยชน์ต่อเด็กปฐมวัย ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน คือ พัฒนาการด้านร่างกาย เด็กจะได้พัฒนาร่างกายในส่วนหลัก ๆ คือ การทำงานประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา กล้ามเนื้อมัดเล็ก พัฒนาการทางด้านอารมณ์ คือการได้ชื่นชมและสร้างสรรค์สิ่งที่สวยงาม พัฒนาการทางด้านสังคม คือ เด็กได้ทำงานร่วมกับผู้อื่น รู้จักรอคอยที่จะใช้อุปกรณ์ร่วมกับผู้อื่นและเรียนรู้การแบ่งปัน พัฒนาการทางด้านสติปัญญา คือ การเรียนรู้เกี่ยวกับรูปร่าง ลักษณะ รูปทรง ความกว้าง ความยาว ความสูง ขนาด (เล็ก-ใหญ่) พื้นผิว (เรียบ-ขรุขระ-หยาบ) เป็นต้น

ศิลปะสร้างสรรค์ยังส่งเสริมให้เด็กรู้จักคิด รู้จักทำและรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีความประณีตและความเป็นระเบียบ สิ่งที่สำคัญในการจัดกิจกรรมศิลปะให้กับเด็ก คือ การคำนึงถึงตัวเด็กและการเลือกกิจกรรมให้เหมาะสมต่อความถนัด ความสนใจตามธรรมชาติกับพัฒนาการของเด็กแต่ละคน กิจกรรมต้องสามารถยืดหยุ่นได้ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดตามจินตนาการและได้ทำงานอย่างอิสระ ควรเน้นการทำงานเป็นกระบวนการมากกว่าผลผลิต เช่น เวลาที่เด็กได้วาด ได้เขียน และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อน ๆ อย่างมีความสุขสนุกสนาน จะมีความสำคัญมากกว่าผลงานที่คุณครูหรือผู้ปกครองคาดหวังว่าจะต้องสวยงาม เรียบร้อยตามแบบอย่าง เพราะการสร้างสรรค์ผลงานของเด็กเป็นการลองผิดลองถูก และเรียนรู้การแก้ปัญหาตลอดเวลา ส่วนการแก้ปัญหาของเด็กนั้นอาจมีถูกมีผิดบ้าง ตามแต่ความสามารถในการสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตัวเด็ก ซึ่งจะช่วยให้เด็กค่อย ๆ พัฒนางานสร้างสรรค์ได้ดีขึ้นในระดับสูงต่อไป

จุดมุ่งหมายในการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์

การจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข อีกทั้งยังได้ใช้สมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาอย่างสมดุล ซึ่งจะไม่เน้นผลงานที่สวยงามหรือเหมือนของจริง แต่เน้นให้เด็กได้พัฒนาครบทุกด้านจากการทำกิจกรรม โดยมีจุดมุ่งหมายดังนี้

-เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ตามจินตนาการให้เด็กรู้จักสังเกตและแสดงออกตามความถนัด

-เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็ก

-เพื่อพัฒนาการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา

-เพื่อฝึกให้เด็กได้ทำงานเป็นกลุ่ม ทำงานเป็นขั้นตอน และมีความประณีตในการทำงาน

-เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้แสดงออกอย่างอิสระ และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

-เพื่อพัฒนาความมั่นใจ กล้าแสดงออกและส่งเสริมการใช้ภาษาในการอธิบายเกี่ยวกับผลงานของตนเอง

แนวทางในการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์

การจัดกิจกรรมควรคำนึงถึงตัวเด็กเป็นสำคัญ เพราะเด็กแต่ละคนมีความสนใจที่แตกต่างกัน ดังนั้น คุณครูควรมีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ตรงกับความสนใจและความสามารถของเด็ก จะจัดเป็นแบบกลุ่มใหญ่หรือเป็นรายบุคคลก็ได้ค่ะ และควรมีการจัดกิจกรรมทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เพื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศและให้เด็กเกิดความผ่อนคลาย ได้คิดและใช้จินตนาการได้อย่างเต็มที่ ส่วนระยะเวลาในการจัดกิจกรรมแนะนำให้จัดตามความเหมาะสมกับวัยและสามารถยืดหยุ่นได้ตามความสนใจของเด็ก เช่น

-เด็กวัย 2-3 ปี ช่วงความสนใจจะสั้น การทำกิจกรรมอาจใช้เวลาประมาณ 8 นาที

-เด็กวัย 4-5 ปี ช่วงความสนใจในการทำกิจกรรมประมาณ 12 นาที

-เด็กวัย 6 ปี ช่วงความสนใจอาจมีมากขึ้น การทำกิจกรรมอาจใช้เวลาประมาณ 15 นาที

 

การจัดกิจกรรมควรจัดให้เด็กได้ทำทุกวัน โดยมีกิจกรรมให้เลือกทำอย่างน้อย 2-3 กิจกรรม ส่วนใหญ่แล้วกิจกรรมหลักที่จัดคือ การวาดภาพระบายสี งานปั้นแป้งโดหรือดินน้ำมัน งานฉีกตัดปะ เป็นต้น เพื่อเป็นการฝึกกล้ามเนื้อมือของเด็กให้แข็งแรง (เป็นการเตรียมพร้อมด้านการเขียนให้กับเด็กค่ะ) หรือจะจัดกิจกรรมให้เด็กทำงานเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5-6 คน เพื่อฝึกให้เด็กได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความรับผิดชอบ และที่สำคัญคุณครูควรมีการจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ให้พร้อม เพื่อให้เด็กสะดวกต่อการทำกิจกรรมค่ะ

เมื่อเด็กได้ฝึกทำกิจกรรมซ้ำ ๆ ก็จะทำให้เกิดทักษะมากขึ้น ทำให้เด็กเกิดความมั่นใจในความสามารถของตัวเองและการจัดกิจกรรมควรจัดให้มีความหลากหลาย คุณครูควรให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้และการเก็บอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็น สี กาว กรรไกร พู่กัน ฯลฯ และควรให้เด็กได้เลือกใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เพื่อเด็กจะได้ใช้จินตนาการได้อย่างเต็มที่

กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย

กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย คือ กิจกรรมการวาดภาพระบายสี การเล่นกับสีชนิดต่าง ๆ การฉีก ตัด ปะ และงานประดิษฐ์ ฯลฯ ตามที่กล่าวมานี้ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการแสดงออกทางความคิด ที่เด็กได้สำรวจและจัดทำกับวัตถุโดยตรง เด็กสามารถออกแบบ ตกแต่ง กับชิ้นงานได้อย่างอิสระ โดยแบ่งเป็นประเภทกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดังนี้

การปั้น คือกิจกรรมที่ใช้วัตถุที่เป็นดินน้ำมัน แป้งโด ดินเหนียว โดยคลึงให้เป็นเส้น ปั้นเป็นแผ่น ปั้นเป็นก้อนกลมหรือสี่เหลี่ยม ปั้นตามเรื่องราวไม่ว่าจะเป็นสัตว์ สิ่งของ ตามเรื่องเล่าจากนิทานปั้นตามจินตนาการ

- กิจกรรมศิลปะการปั้นดินญี่ปุ่น สำหรับเด็กปฐมวัย
- สวนสัตว์แป้งโด

การฉีก ตัด ปะ กระดาษ เป็นกิจกรรมที่นำกระดาษต่าง ๆ มาฉีก ตัดและ ปะติดลงบนกระดาษให้เกิดเป็นภาพต่าง ๆ ตามจินตนาการ กระดาษที่ใช้สำหรับฉีกไม่ควรแข็งหรือเหนียวเกินไป เช่น กระดาษสีมัน กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษนิตยสาร เป็นต้น การฉีก ตัด ปะกระดาษทำได้หลายวิธี ได้แก่ ฉีกกระดาษเป็นชิ้นติดซ้อนเรียงกัน หรือฉีกกระดาษเป็นชิ้นติดลงบนภาพที่กำหนดให้ ฉีกกระดาษตามรูปที่วาดไว้ให้แล้วให้เด็กฉีกกระดาษที่เป็นส่วนเกินออก ฉีกกระดาษเป็นรูปทรงเรขาคณิต เช่น สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงกลม ฉีกหรือตัดกระดาษอิสระเป็นรูปตามจินตนาการ

- การฉีก ตัด ปะ กิจกรรมศิลปะที่ส่งเสริมพัฒนาการและความคิดสร้างสรรค์
- ฉีก ตัด ปะ กิจกรรมฝึกกล้ามเนื้อมือ สำหรับเด็กปฐมวัย

งานพับกระดาษ เป็นการประดิษฐ์กระดาษให้มีลักษณะเป็นภาพ 3 มิติ ซึ่งกิจกรรมนี้จะมีความยากขึ้นมาเล็กน้อย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ ต้องอาศัยการทำงานประสานสัมพันธ์ระหว่างกล้ามเนื้อมือ ตาและนิ้วมือ พับกระดาษให้เป็นภาพ ตามขั้นตอนซึ่งลำดับขั้นตอนนั้นไม่ควรยากเกินความสามารถของเด็ก

- พื้นฐานงานพับกระดาษ เสริมทักษะการประสานสัมพันธ์มือและตา
- กิจกรรม งานพับกระดาษ หุ่นนิ้วมือรูปสัตว์
- กิจกรรมงานพับกระดาษ ต้อนรับเทศกาลวันคริสต์มาส ศิลปะสร้างสรรค์ปฐมวัย

กิจกรรมการพิมพ์ภาพ การพิมพ์ภาพด้วยส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น นิ้วมือ ฝ่ามือ แขน ข้อศอก ฯลฯ การพิมพ์ภาพจากวัสดุธรรมชาติต่าง ๆ เช่น พืช ผัก ผลไม้ ฯลฯ การพิมพ์ภาพจากวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ เช่น หลอด ฝาน้ำอัดลม ขวดน้ำ ฯลฯ รวมถึงการพิมพ์ภาพด้วยการขยำกระดาษ การขูดสี เช่น ให้เด็กวางกระดาษบนใบไม้หรือเหรียญ แล้วใช้สีขูดลอกลายออกมาเป็นภาพตามวัสดุนั้น ๆ ค่ะ

- สร้างภาพพิมพ์จากลายนิ้วมือ

งานประดิษฐ์เศษวัสดุ เป็นการรวบรวมเศษวัสดุเหลือใช้ เช่น กล่องนม เศษกระดาษ กระดาษห่อของขวัญ แกนกระดาษทิชชู่ ฯลฯ มาประดิษฐ์เป็นสิ่งต่าง ๆ ตามแบบอย่างหรือตามจินตนาการได้อย่างอิสระ

- กิจกรรมฝึกสมาธิสำหรับเด็กปฐมวัย เกมตกสัตว์ จากแก้วกระดาษ

กิจกรรมวาดภาพและระบายสี เป็นกิจกรรมการสร้างภาพ 2 มิติที่เด็กเขียนลงไปด้วยความรู้สึกของตัวเองให้เป็นลายเส้น รูปร่างหรือลวดลายต่าง ๆ ออกมาตามจินตนาการ แทนการใช้คำพูด

กิจกรรมการเล่นกับสีน้ำ เป็นการนำสีน้ำ สีโปสเตอร์ หรือสีผสมอาหารมาละลายกับน้ำ เพื่อนำมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เช่น การเป่าสี การหยดสี การเทสี หรือการกลิ้งสี เป็นต้น (การใช้สีผสมอาหารในการทำกิจกรรม แนะนำให้เด็กใส่ผ้ากันเปื้อน หรือใส่เสื้อผ้าที่เก่าแล้ว เพื่อป้องกันการเลอะจากสี เพราะสีผสมอาหารจะทำความสะอาดได้ยากกว่าสีน้ำปกติค่ะ)

จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่า การจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้แสดงออกทางความคิดโดยผ่านบรรยากาศการจัดกิจกรรมที่เด็ก ๆ มีความสุขและสนุกสนาน มีอิสระในการเลือกทำกิจกรรมด้วยตัวเอง การเลือกจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับเด็กนอกจากจะช่วยสร้างจินตนาการ พัฒนาความคิดแล้ว ยังช่วยให้คุณครูและผู้ปกครองสามารถรับรู้ความรู้สึกและสภาวะอารมณ์ของเด็กแต่ละคนค่ะ

💕💕💕💕💕💕💕💕💕💕💕💕

👉การประเมิน

ประเมินตนเอง : ตั้งใจฟังอาจารย์และได้ความรู้เพิ่มเติม

ประเมินเพื่อน : เพื่อนๆตั้งใจฟังอาจารย์

ประเมินอาจารย์ : อาจารย์ให้คำแนะนำและคำปรึกษาได้ดี

…………………… THANK YOU ……………………

 

 

Recorded Diary 14

  ……………………  WELCOME  …………………… 💬 ความรู้ที่ได้รับในวันนี้ วันนี้อาจารย์ให้นักศึกษาเขียนวัตถุประสงค์ของกิจกรรมต่าง ๆ เขียนตามความรู้เดิมท...